ชาบู

เปิดหม้อ Wanita Shabu&Café-ไดโนชาบู แฟรนไชส์น่าลงทุนของคนอยากเปิดร้านอาหาร

ด้วยความนิยมที่ไม่เคยตกยุค ธุรกิจชาบูยังคงเป็นที่นิยมของทั้งคนที่ทำธุรกิจและผู้บริโภคมากมาย แต่การจะเปิดร้านให้ประสบความสำเร็จได้แล้วนั้น มันอาจจะต้องใช้มากกว่าความอร่อย

วันนี้ Smartsme จะพาไปรู้จักกับ 2 แฟรนไชส์น่าลงทุนสำหรับคนที่อยากเปิดร้านอาหารกับแบรนด์ Wanita Shabu & Cafe และ ไดโนชาบู

เริ่มกันที่ Wanita Shabu & Cafe เป็นร้านสไตล์มินิมอลที่เปิดมาได้ 2 ปีแล้ว และเปิดรับแฟรนไชส์เมื่อไม่นานมานี้ บอกเลยว่าร้านนี้มีความครบเครื่องทั้ง ชาบู ปิ้งย่าง บิงซู กาแฟสด อาหารจานเดียว แถมยังมี All day breakfast เสิร์ฟอาหารเช้า ไข่กระทะ ขนมปังสอดไส้

สำหรับเจ้าของร้านคือ ” คุณน้ำหวาน ” อดีตแอร์โฮสเตสสาวสวย ที่ผันตัวมาเปิดร้านชาบู แถมยังพิถีพิถันเรื่องคุณภาพวัตถุดิบ ความสะอาด และความซื่อสัตย์แบบสุดๆ ยิ่งไปกว่านั้นด้วยความที่ร้านยังทำเป็นสไตล์คาเฟ่ จึงทำให้แบรนด์มีเสิร์ฟมีความครบเครื่องรอบด้าน

 

 

และที่หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้มาก่อน Wanita Shabu & Cafe รีแบรนด์มาจาก Ocha ชาบู อันโด่งดัง ดังนั้นแล้วด้วยประสบการณ์แล้ว รับประกันได้เลยในเรื่องของความสามารถในการบริหารร้าน และสูตรน้ำจิ้มที่อร่อยติดลิ้น ไม่เป็นรองใคร ให้ลองนึกภาพแบบนี้ว่าเป็นร้านสไตล์มินิมอล แต่อัดแน่นด้วยคุณภาพและบริการ ในแบบร้านขนาดใหญ่ยังไงยังงั้นเลย และข้อดีของวานิตะอีกอย่างคือ ถ้าเราเป็นแฟรนไชส์ซีกับเค้า เราสามารถซื้อน้ำจิ้มสูตรของวานิตะในแบบแกลลอนที่มีการขึ้นทะเบียน อย.เรียบร้อยแล้ว เพื่อนำมาบรรจุใส่ขวดแบ่งขายตาม shop ต่างๆในพื้นที่ เพื่อเป็นการหารายได้เพิ่มอีกช่องทางหนึ่งด้วย

ค่าแฟรนไชส์แรกเข้า 230,000 บาท ค่าแฟรนไชส์รายปี 10,000 บาท ได้เซ็ตพร้อมเปิดร้าน อุปกรณ์ครบครัน แถมมีทีมงานมาช่วยอบรมและเปิดร้านให้ด้วย 7 วันเต็ม

ผู้ลงทุนจะต้องสั่งซื้อ น้ำจิ้ม และ น้ำซุป ที่เป็นสูตรของวานิตะจากสำนักงานใหญ่เพียงอย่างเดียว รวมถึงเมนูในร้านจะเป็นไปตามใบเมนูที่วานิตะออก แต่สามารถพูดคุยเพื่อเพิ่มเมนูท้องถิ่นตามพื้นที่ได้ ส่วนวัตถุดิบอื่นๆ แนะนำให้ผู้ลงทุนหาซื้อจากซัพพลายเออร์ได้เองในพื้นที่

แนะนำพื้นที่เริ่มต้นที่ 80 ตรม. จะวางโต๊ะนั่งแบบ 4 คน ได้ 10 โต๊ะ ระยะเวลาคืนทุน ประมาณ 10 เดือน ขึ้นอยู่กับทำเลและปัจจัยอื่นๆด้วย ราคาเมนูเริ่มต้นที่ 299 บาท ไปจนถึง 329 บาท

ขยับไปทางด้านของ ไดโน กันบ้างเปิดมาแล้ว 9 ปี ปัจจุบันมีทั้งหมด 4 สาขา โดยเป็นร้านสไตล์ญี่ปุ่นแต่ปรับให้เข้ากับลิ้นคนไทยที่สร้างสรรค์โดยคุณอ้อน และเคยมีถึง 24 สาขา ในช่วงก่อนโควิด จุดเด่นของแบรนด์สำหรับผู้ประกอบการก็น่าสนใจ เพราะมีการอบรมทุกขั้นตอนสำหรับเจ้าของร้าน, พนักงานทุก สร้างความพร้อม ความเชี่ยวชาญก่อนเปิดร้านกันเลย และมีแหล่งวัตถุดิบครบวงจรทุกประเภท เรียกว่าตอบสนองความต้องการในแต่ละพื้นที่ได้ดีเลย และที่สำคัญคือเค้าไม่ใช้หัวเชื้อน้ำซุปนะ แต่จะสอนสูตรน้ำซุปให้เลย เพราะต้องการให้น้ำซุปที่ออกมามีความสดใหม่ และปลอดภัยสำหรับลูกค้านั่นเอง

 

 

ค่าแรกเข้า ขึ้นอยู่กับขนาดร้าน โดยเริ่มต้นที่ 99,000 บาท มีค่าแฟรนไชส์ 30,000 บาท/ปี หลังจากทำสัญญาแล้ว ไดโนจะเสนอรายการอุปกรณ์ที่เหมาะกับร้านเรา ก็ให้เราเลือกได้ว่าจะจัดซื้อเอง หรือให้ทางแบรนด์จัดซื้อให้ได้ ส่วนน้ำจิ้มจะเป็นสูตรของไดโนเท่านั้น โดยจะจัดส่งให้ลูกค้าแฟรนไชส์ตามออเดอร์ที่สั่งซื้อหลังจากเปิดร้านแล้วนะ และมีการคัดสรรซัพพลายเออร์เพื่อวัตถุดิบอาหารที่ดีที่สุดให้กับผู้ที่ลงทุนด้วย

ในด้านการร่วมธุรกิจ ถ้ามีทำเลอยู่แล้ว ทางแฟรนไชส์จะเข้าไปสำรวจทำเล และแจ้งงบประมาณการลงทุนทั้งหมด และพร้อมดำเนินการทันที หรือหากยังไม่มีทำเลก็สามารถให้แฟรนไชส์แนะนำทำเลให้เราพิจารณาได้ จากนั้นจะเข้าไปสำรวจทำเลพร้อมกับแจ้งงบประมาณการลงทุนให้เราทราบนั่นเอง

สำหรับพื้นที่แนะนำ ไดโนทำได้ทุกทำเล เพราะร้านเป็นคอนเซปต์แบบ D.I.Y เลยสามารถปรับเปลี่ยน และสร้างสรรค์ได้ตามความต้องการของเจ้าของร้าน มีระยะเวลาคืนทุนประมาณ 1 ปี ราคาเริ่มต้นที่ 199 บาท

วิเคราะห์การลงทุน

ทั้งสองแบรนด์ มีค่าแฟรนไชส์ที่ไม่สูงมาก สามารถจับต้องได้คล้ายๆกัน และมีความน่าสนใจไปคนละแบบ ถ้ามาดูในเรื่องของเงินทุนเริ่มต้น ถึงแม้ว่าทางไดโนจะมีราคาเริ่มต้นที่ 99,000บาท แต่ก็ยังไม่รวมรายการอุปกรณ์ต่างๆภายในร้าน ซึ่งผมประเมินไว้คร่าวๆในราคาต่ำสุดที่พอจะเป็นไปได้ โดยแบ่งเป็น

1. อุปกรณ์สำหรับลูกค้า อย่าง โต๊ะ,เก้าอี้ ชุดจาน,ชาม,ช้อน,ตะเกียบ เตาและหม้อ รวมถึงอุปกรณ์เสริมต่างๆ จำพวก กระบวยตักน้ำซุป ทัพพี ถาดใส่อาหาร แก้วน้ำ ถ้วยน้ำจิ้ม ที่ใส่ทิชชู่
ให้ไว้ที่ 93,000 บาท

2. อุปกรณ์ในครัว อย่าง ตู้เย็น/ตู้แช่แข็ง, อุปกรณ์เตรียมอาหาร, อุปกรณ์ล้างจาน
ให้ไว้ที่ 45,000 บาท

3. ค่าใช้จ่ายอื่นๆ อย่างระบบ Pos หรือของตกแต่งร้าน ให้ไว้ที่ 20,000 บาท

ซึ่งรวมๆแล้วราคาก็ใกล้เคียงกับทางวานิตะอยู่ ในด้านของบุคลากรที่มาสนับสนุนในการทำร้านก็มีเหมือนกันทั้งสองแบรนด์ ในส่วนของชื่อแบรนด์ คงเอามาคิดเปรียบเทียบให้ชัดเจนได้ยาก เพราะว่าหากยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างเท่าแบรนด์ชั้นนำ ลูกค้าอาจมองว่าร้านของเรายังเป็นร้านใหม่ที่น่าสนใจ น่ามาลิ้มลองประสบการณ์ดูสักครั้ง มากกว่าที่จะนึกถึงรสชาติขึ้นมาได้ทันทีเหมือนกับร้านใหญ่ๆ

มีข้อผูกมัดคล้ายๆกันคือจะต้องเป็นสูตรน้ำจิ้มจากแฟรนไชส์เหมือนกัน แตกต่างกันในส่วนของน้ำซุปที่วานิตะต้องให้ซื้อจากสาขาใหญ่ แต่ไดโนเปิดเผยสูตรให้ทำเองได้ เพื่อให้ได้น้ำซุปที่สดใหม่กว่า

และในส่วนของวัตถุดิบนั้นทางด้านของไดโนมีการคัดสรรซัพพลายเออร์เพื่อควบคุมคุณภาพเพื่อให้เกิดมาตรฐาน ก็ทำให้เราไม่ต้องเสียเวลาและลองผิดลองถูกกับซัพพลายเออร์ด้วยตัวเอง

แต่ในอีกแง่นึง ถ้าเราสามารถหาซัพพลายเออร์ที่คุณภาพดี ในราคาที่ย่อมเยาได้ ก็จะทำให้วัตถุดิบในร้านของเราน่าสนใจและเป็นที่ถูกใจของลูกค้าไม่น้อย