โกโก้

โกโก้ขาดตลาดในจีน ไทยมีศักยภาพแค่ไหนในการเป็นผู้เล่นรายใหม่

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน รายงานว่า ตั้งแต่ปลายปี 2022 เป็นต้นมา ราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโกโก้ได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ในเดือนเมษายน ปี 2024 ราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโกโก้พุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 12,000 เหรียญสหรัฐ/ตัน ทั้งที่ปลายปี 2022 ราคายังอยู่ที่เพียง 2,500 เหรียญสหรัฐ/ตัน แม้ว่าในภายหลังจะมีการปรับราคาลงมาอยู่ที่ 7,000 เหรียญสหรัฐ/ตัน แต่ข้อมูลในเดือนธันวาคม ปี 2024 ระบุว่าราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโกโก้ได้ทะลุระดับ 10,000 ดอลลาร์อีกครั้ง

สถานการณ์การนำเข้าโกโก้ของจีน
ข้อมูลจาก Global Trade Atlas ในส่วนของโกโก้และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง (พิกัด 18) ระบุว่าในปี 2024 จีนมีมูลค่าการนำเข้ารวมอยู่ที่ 1,335.52 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 29.29% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมีการนำเข้าหลักจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ อิตาลี และเบลเยียม ซึ่งในปี 2024 ไทยจัดอยู่ในลำดับที่ 28 มีมูลค่าการส่งออกไปจีนอยู่ที่ 4.86 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 0.36% ของการนำเข้าจากทั่วโลก

สำหรับเมล็ดโกโก้ดิบหรือคั่ว (พิกัด 1801) จีนมีการนำเข้ารวม 11,069.11 ตัน ลดลง 20.80% จากปีก่อนหน้า โดยมีมูลค่าการนำเข้ารวมอยู่ที่ 72.34 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง 86.92% ประเทศหลักที่จีนนำเข้า ได้แก่ เอกวาดอร์ ปาปัวนิวกินี โตโก กินี และกานา ซึ่งในปี 2024 ไทยอยู่ในลำดับที่ 8 โดยมีมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 194,396 เหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 0.27% ของการนำเข้าจากทั่วโลก

ความต้องการโกโก้ในจีนที่เพิ่มขึ้น
สำนักข่าว Food Daily รายงานว่าความต้องการโกโก้ในจีนกำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าตลาดโกโก้และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องในจีนจะเริ่มต้นช้ากว่าประเทศอื่นๆ แต่ปัจจุบันโกโก้ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มอย่างแพร่หลาย เดิมทีช็อกโกแลตถือเป็นผลิตภัณฑ์หลักของการใช้โกโก้ แต่การบริโภคช็อกโกแลตในจีนคิดเป็นเพียงหนึ่งในสามของการใช้โกโก้ทั้งหมด ขณะที่อีกสองในสามถูกใช้ในอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต เช่น เบเกอรี่ ชานมสมัยใหม่ ไอศกรีม และเครื่องดื่มจากนม

การรับมือของจีนต่อวิกฤตโกโก้
เพื่อรับมือกับปัญหาการขาดแคลนโกโก้ จีนได้ดำเนินกลยุทธ์หลากหลายวิธี ตั้งแต่การมองหาแหล่งการผลิตโกโก้ใหม่ การพัฒนาสายพันธุ์โกโก้ ไปจนถึงการมองหาวัตถุดิบทดแทน และการขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์ แบรนด์ช็อกโกแลตไม่ได้มองมาตรการเหล่านี้เป็นเพียงแนวทางแก้ปัญหาระยะสั้น แต่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญในระยะยาว

นอกจากนี้ จีนยังได้ส่งเสริมการเพาะปลูกโกโก้ในประเทศ โดยได้จัดตั้งแหล่งปลูกในมณฑลไหหลำและยูนนาน เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้า แม้ว่าผลผลิตยังไม่สูงมากนัก แต่ก็เริ่มเห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ตัวอย่างในปี 2020 โกโก้จากมณฑลไหหลำถูกส่งออกไปยังเบลเยียม และได้รับการยอมรับในด้านรสชาติและคุณภาพ ต่อมาในปี 2024 โกโก้คุณภาพสูงและโกโก้เหลวที่พัฒนาโดยจีน ได้เปิดตัวในตลาดโลก ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมโกโก้ของไหหลำ

โอกาสของโกโก้ไทย
ปัจจุบัน การปลูกโกโก้ในประเทศไทยถือว่ามีศักยภาพสูง เนื่องจากสภาพอากาศเอื้อต่อการปลูกโกโก้ ความต้องการบริโภคโกโก้เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศไทย จีน และต่างประเทศ ภาครัฐได้สนับสนุนให้โกโก้เป็นพืชเศรษฐกิจแห่งอนาคต มีการพัฒนาเครือข่ายเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนเพื่อยกระดับคุณภาพโกโก้ การพัฒนามาตรฐานสินค้า เช่น GMP และ HACCP เพื่อการส่งออก รวมถึงกระบวนการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ซึ่งจะช่วยผลักดันและสร้างศักยภาพให้กับโกโก้ไทย เป็นที่รับรู้มากขึ้นในตลาดโลก