ช่วงวันเสาร์ (9 กุมภาพันธ์ 2562) ที่ผ่านมา แม้จะเป็นวันหยุดพักผ่อน แต่บริเวณชั้น 1 ของศูนย์การค้าโรบินสัน สุพรรณบุรี กลับเต็มไปด้วยแฟนฟุตบอล “ช้างศึกยุทธหัตถี” ที่พร้อมใจกันเดินทางมาให้กำลังทีมฟุตบอลบ้านเกิดของพวกเขา ในการเปิดตัวสู้ศึกไทยลีก 2019
หากพูดถึงฟุตบอลหลายคนคงมองว่าเป็นกีฬาของลูกผู้ชายที่ห้ำหั่นกันในสนามอย่างเอาเป็นเอาตาย เพื่อคว้าชัยชนะให้กับสโมสรที่ตัวเองสังกัดอยู่ แต่อีกมุมหนึ่ง ฟุตบอลไม่ได้มีแค่เรื่องแพ้-ชนะกันในสนามเท่านั้น เรื่องนอกสนามก็มีเรื่องที่ให้เราได้พูดถึงมากมาย ไม่ว่าจะเป็น หลักการบริหารที่จะทำให้ทีมเดินไปสู่เป้าหมาย หรือแม้แต่การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้กับท้องถิ่นจนกลายเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในจังหวัด

คุณวราวุธ ศิลปะอาชา ประธานสโมสรสุพรรณบุรี เล่าให้ฟังว่า สโมสรสุพรรณบุรี เอฟซี คือความภูมิใจของคนสุพรรณบุรีกว่า 800,000 ชีวิต และยังได้รับเกียรติให้เป็น 1 ใน 6 เมืองแห่งกีฬา ดังนั้นสุพรรณบุรี เอฟซี จึงเป็นสัญลักษณ์ ความภูมิใจของคนในจังหวัด สะท้อนให้เห็นการมีสุขภาพ และตัวอย่างที่ดี
“เราสร้างทีมฟุตบอลขึ้นมาเพื่อให้ความสุขกับคนสุพรรณ บางครั้งมีสมหวัง ผิดหวัง แต่ฟุตบอลก็เปรียบเสมือนชีวิตที่มีขึ้น มีลงอยู่ตลอดเวลา แต่จุดมุ่งหมายของทีมฟุตบอลทีมนี้ คือการให้ความสุข ให้คนที่ใส่เสื้อแล้วมีโลโก้สุพรรณบุรี รู้สึกภาคภูมิใจกับถิ่นกำเนิดของตัวเอง”

ในด้านการบริหาร คุณวราวุธ เล่าให้ฟังว่า ตนบริหารทีมฟุตบอล แต่ไม่เคยเล่นฟุตบอล ดังนั้นเราให้คนที่รู้เรื่องเป็นคนบริหารทีม การบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ ดูว่านักฟุตบอลเป็นอย่างไร เป็นหน้าที่ของผู้จัดการทีม ซึ่งจะแยกสองส่วนต่างกัน ตนในฐานะประธานสโมสรจะไม่เข้าไปก้าวก่ายกับการบริหารทีม ผลงานออกมาดีโค้ชรับ ผลงานออกมาไม่ดีโค้ชก็รับ
“ความมีวินัย หมั่นเพียร ซื่อสัตย์ จะเป็นพื้นฐานให้การแข่งขัน การบริหารงานของสโมสร ไม่ว่าจะเป็นฐานะของนักฟุตบอล ทีมงานสต๊าฟโค้ช หรือแม้แต่ประธานสโมสรจะเดินหน้าไปด้วยกัน และจะประสบความสำเร็จ”
คุณวราวุธ กล่าวต่อไปว่า ทีมฟุตบอลที่จะประสบความสำเร็จได้ต้องมี 3 ปัจจัยด้วยกัน ได้แก่ 1.มีเงิน 2.มีคน เพราะมีเงินแต่หาซื้อตัวนักเตะไม่ได้ก็จบ และ 3.มีใจ หากมี 2 อย่างแรกแล้ว ถ้าผู้บริหารไม่มีความกระตือรือร้น ก็ไม่เกิดประโยชน์ เช่นเดียวกับการทำกิจกรรมร่วมกับสังคม สโมสรสุพรรณบุรี เอฟซี ให้ความร่วมมืออยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็น การส่งนักฟุตบอลไปออกงานต่างๆ, การเปิดคลินิกสอนฟุตบอล ตลอดจนการรับนักศึกษาเข้ามาฝึกงาน มาขอดูงานอยู่เป็นประจำ ฉะนั้นสโมสรแห่งนี้นอกจากสร้างขึ้นมา เพื่อให้ความสุขแล้ว ยังเป็นแหล่งเพาะความรู้ให้กับเยาวชนคนสุพรรณอีกด้วย

ด้านคุณถาวร สันติตรานนท์ ผู้นำเชียร์ที่กำลังตะโกนปลุกเร้าผู้คนที่มาร่วมงาน เล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่าง “กีฬา” และ “ท้องถิ่น” ว่า ทีมฟุตบอลสุพรรณบุรี เอฟซี เหมือนครอบครัวของคนสุพรรณ เพราะคนสุพรรณมีความรักในเรื่องของกีฬา แต่ก่อนเคยไปเชียร์ทีมฟุตบอลต่างประเทศ แต่ตอนนี้เรามีทีมฟุตบอลเป็นของตัวเอง และเป็นช่วงโอกาสดีที่ฟุตบอลไทยกำลังบูม ตอนนี้สนามฟุตบอลกลายเป็นจุดศูนย์รวมชาวสุพรรณบุรีไปเป็นที่เรียบร้อย
“เวลามีฟุตบอลแข่งขัน คนสุพรรณก็จะตั้งหน้าตั้งตาออกมาเชียร์กัน โดยคนที่อยู่แต่ละอำเภอก็จะเดินทางมา บางคนนั่งรถยนต์มาเกือบครึ่งวันเพื่อที่จะมาเชียร์ ยิ่งวันไหนมีทีมใหญ่มาต้องยืนเข้าแถวซื้อตั๋ว เช่น บางคนมาจาก อ.ด่านช้าง เปรียบเทียบเหมือนกับนั่งรถยนต์มาจากกรุงเทพฯ และบอลจบต้องนั่งรถยนต์กลับไปอีก”

คุณถาวร เล่าต่อว่า ฟุตบอลทำให้จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นที่รู้จักมากขึ้น เมื่อรู้จักมากขึ้นเวลามีการแข่งขันก็จะมีคนเดินทางเข้ามามาก โดยเฉพาะทีมเยือน รวมถึงคนสุพรรณที่ไปทำงานจังหวัดอื่นก็กลับเข้ามา เพราะอยากจะมีส่วนร่วมในการที่จะให้กำลังใจนักฟุตบอล ตลอดจนซึมซับบรรยากาศ จนกลายเป็นครอบครัว ที่ทำให้แฟนฟุตบอลได้รู้จัก สร้างการมีส่วนร่วมให้คนในจังหวัดมากขึ้น
สำหรับกิจกรรมของกองเชียร์จะมีอยู่ด้วยกัน 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มแรกทำกับสโมสร มีการเตะฟุตบอลกระชับมิตร หรือร่วมกิจกรรมกับทางสโมสรที่มีการเชิญเข้ามา 2.กิจกรรมที่ทำกับแฟนบอลด้วยกันเอง เช่น การออกค่ายเป็นจิตอาสา, กิจกรรมกีฬาสี เป็นต้น และ 3.กิจกรรมที่ทำร่วมกับสังคม

จะเห็นได้ว่า “ทีมฟุตบอล” ก็เปรียบเสมือนลมหายใจของคนในจังหวัด ที่สามารถสร้างความสุข ให้ความเสียใจ มีส่วนร่วมทางอารมณ์ร่วมกัน เกิดความผูกพัน เหล่านี้คือสิ่งสำคัญที่จะหลอมหลวมจนกลายเป็น “ท้องถิ่นนิยม” ไปในที่สุด