ปัญหาด้านการเงิน ความยากจน และความเหลื่อมล้ำทางรายได้ เป็นหนึ่งปัญหาใหญ่ที่สั่งสม และก่อให้เกิดความทุกข์ยากต่อการดำเนินชีวิต
ซึ่งเรื่องนี้ คุณวันวิสาข์ โคมินทร์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายสื่อสารองค์กร ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย ตัวแทนมูลนิธิซิตี้ ได้ให้ข้อคิดเห็นในเรื่องของ โมเดล “ชุมชนสมาร์ทมันนี่” ทางออกสำหรับสร้างชุมชนให้เข้มแข็งไว้ดังนี้
อะไรคือจุดเริ่มต้นของ “ชุมชนสมาร์ทมันนี่”
ปัญหาด้านการเงิน ความยากจน และความเหลื่อมล้ำทางรายได้ เป็นหนึ่งปัญหาใหญ่ที่สั่งสม และก่อให้เกิดความทุกข์ยากต่อการดำเนินชีวิต สาเหตุของปัญหา นอกจากปัจจัยภายนอกด้านเศรษฐกิจแล้ว อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มชุมชน และผู้ที่มีรายได้น้อย ไม่สามารถหลุดจากปัญหาปากท้อง ได้แก่ ปัจจัยส่วนบุคคล อย่างการขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องการบริหารเงิน วินัยทางการเงิน และการวางแผนการออมอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาหนี้สิน และส่งผลกระทบต่อระดับคุณภาพชีวิต อย่างไรก็ดี ท่ามกลางปัญหาเรื้อรังดังกล่าว มูลนิธิซิตี้ ร่วมกับมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) ได้พัฒนาแนวคิด โมเดล “ชุมชนสมาร์ทมันนี่” ที่จะช่วยบรรเทาปัญหาความยากจน ลึกถึงระดับครอบครัว และยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ชุมชนระยะยาว
จุดมุ่งหมายของโมเดลนี้คืออะไร
โมเดล “ชุมชนสมาร์ทมันนี่” เป็นโมเดลที่มูลนิธิซิตี้ คีนัน และ พอช. ร่วมกันพัฒนาขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเครือข่ายชุมชนให้เข้มแข็ง และมีความรู้ความเข้าใจในการจัดการทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาสมาชิกชุมชนให้มีศักยภาพทางการเงินที่ดีตั้งแต่ระดับครอบครัว ผ่านการให้ความรู้ด้านการเงิน การฝึกอบรม การให้คำปรึกษา และการติดตามผล โดยทีมผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน เริ่มตั้งแต่การวางแผนการเงินจากระดับครอบครัว อาทิ การจดบันทึกบัญชี รู้จักลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ กำหนดเป้าหมายทางการเงิน การออมเงิน และการบริหารจัดการหนี้สิน ฯลฯ ให้สามารถนำความรู้ดังกล่าว ไปช่วยบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในบ้าน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินในอนาคต รวมไปถึงการพัฒนาผู้นำในแต่ละชุมชน ให้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้รู้ทางการเงินประจำชุมชนที่สามารถช่วยเหลือ และให้คำปรึกษาคนในชุมชนได้
เน้นการพัฒนาเกี่ยวกับเรื่องอะไร
มูลนิธิซิตี้ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้มีความรู้ความสามารถด้านการเงิน เพื่อให้ทุกคนสามารถพึ่งพาตนเองโดยนำความรู้ด้านการเงินไปประยุกต์ใช้ในการบริหารค่าใช้จ่ายภายในบ้าน การชำระหนี้สิน ไปจนถึงการออมเงินเพื่อเลี้ยงดู และส่งเสริมอนาคตที่ดีให้แก่บุตรหลานได้อย่างเป็นสัดส่วน และเพียงพอกับปริมาณรายได้ของครอบครัว นอกจากนี้ โมเดลชุมชนสมาร์ทมันนี่ ยังมีจุดเด่นในการพัฒนาผู้นำชุมชนให้สามารถเป็นต้นแบบและแบบอย่างให้แก่สมาชิกชุมชน ตลอดจนสามารถให้คำปรึกษา และช่วยเหลือสมาชิกชุมชนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางการเงินที่ดีขึ้นได้ โดยมูลนิธิซิตี้ ยังคงสานต่อโครงการพัฒนาเครือข่ายองค์กรชุมชน เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงิน เป็นปีที่ 3 และได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือกับมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย และพอช. เมื่อเร็วๆนี้ โดยเป้าหมายของโครงการในปี 2562 จะเน้นสร้างทักษะให้ผู้นำชุมชนเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้แก่สมาชิกในชุมชน และต่อยอดความรู้ให้สามารถเขียนข้อเสนอโครงการ และบริหารโครงการด้านการเงินที่เหมาะสมกับบริบทของชุมชนได้
พัฒนาต่อเนื่องมานานแค่ไหนแล้ว
รูปแบบการพัฒนาดังกล่าว เริ่มดำเนินการมาเป็นระยะเวลามากว่า 2 ปี โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นผู้นำชุมชนกว่า 150 คน และสมาชิกชุมชนมากกว่า 1,500 คน จาก 40 ชุมชน ทั้งในจังหวัดกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล เพื่อช่วยให้แต่ละครอบครัว สามารถวางแผนการใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตได้ในระยะยาว โดยมูลนิธิซิตี้ มุ่งหวังให้เกิดการขยายผลไปสู่เครือข่ายชุมชนอื่นๆ ในประเทศต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของมูลนิธิฯ ในการส่งเสริมความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของผู้มีรายได้น้อยในชุมชนทั่วโลก
ผลลัพธ์ของการพัฒนา
โมเดลชุมชนสมาร์ทมันนี่ เป็นหนึ่งในแนวทางการพัฒนาภายใต้ “โครงการพัฒนาเครือข่ายองค์กรชุมชน เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงิน” ซึ่งจากการติดตามผลผู้เข้าร่วมโครงการ พบว่าก่อให้เกิดผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางด้านการเงินที่ดีขึ้น โดยผู้เข้าร่วมอบรมมีความรู้ความเข้าใจทางการเงินเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ สมาชิกชุมชนกว่า 55% มีการจดบันทึกบัญชีค่าใช้จ่ายครัวเรือน เพื่อนำมาวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้จ่าย และปรับปรุงการบริหารการใช้เงินให้เพียงพอกับรายจ่ายของครอบครัว รวมถึงกว่า 90% มีพฤติกรรมการออมเงินอย่างสม่ำเสมอ และเล็งเห็นถึงความสำคัญของการออมเงิน เพื่อใช้ยกระดับชีวิตให้กับครอบครัวของตนเองได้ในอนาคต ทั้งนี้ มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย เชื่อว่า โมเดลดังกล่าว จะก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อันนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และปัญหาความยากจนให้แก่ชุมชนได้อย่างยั่งยืน
ความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. มีพันธกิจหลักในการให้ความช่วยเหลือชุมชนผู้มีรายได้น้อย โดยมุ่งหวังที่จะสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน อันจะช่วยให้สมาชิกชุมชนได้รับการสนับสนุนด้านการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ และมีคุณภาพชีวิตที่มั่นคง โมเดล “ชุมชนสมาร์ทมันนี่” นับว่าตอบโจทย์การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ตั้งแต่ระดับฐานราก อย่างไรก็ดี การพัฒนาประเทศเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อเพิ่มศักยภาพทั้งในด้านทุนทรัพย์ องค์ความรู้ และโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ความร่วมมือในครั้งนี้ จึงเป็นสัญญาณดี ในการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคม แก้ไขปัญหาความยากจนอย่างตรงจุด และสร้างสังคมเท่าเทียม โดยไม่ทิ้งกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดไว้ข้างหลัง