ใครจะไปเชื่อว่าจิ้งหรีดกลายเป็นสินค้าส่งออกที่สร้างรายได้ให้กับผู้เลี้ยงอย่างเป็นกอบเป็นกำ ซึ่งเป็นผลมาจากเทรนด์ผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากแมลงที่ได้รับความนิยมในต่างแดนอยู่ ณ ขณะนี้
ปัจจุบันส่งออกตลาดต่างประเทศ เช่น สหรัฐ เม็กซิโก สวิตเซอร์แลนด์ กลุ่มอียู ฯลฯ รูปแบบผงโปรตีนจากจิ้งหรีด 100% เพื่อนำไปทำพาสต้า ส่วนลูกค้าในประเทศจะเน้นจำหน่ายออนไลน์ทั้งปลีก-ส่ง ทั้งผงโปรตีนจากจิ้งหรีด 100% ซึ่งนำไปเป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ และแปรรูปเป็นจิ้งหรีดอบกรอบปรุงรส ข้าวเกรียบ คุกกี้ และน้ำพริก มีรายได้ต่อเดือนประมาณ 1.6 ล้านบาท หรือประมาณ 19.2 ล้านบาทต่อปี
หลายคนอาจจะมองข้ามการเลี้ยงแมลงว่าไม่สามารถทำเงินได้ แต่เมื่อเห็นแบบนี้แล้วอาจต้องเปลี่ยนความคิดเพราะที่วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่จิ้งหรีดท่าชัย-ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย พวกเขาสามารถทำรายได้ถึง 1.6 ล้านบาทเลยทีเดียว ซึ่งในบทความนี้เราจะพามาดูที่มาที่ไป เพราะอะไรจิ้งหรีดถึงได้รับความนิยมในตลาด
จุดเริ่มต้นของการเลี้ยงจิ้งหรีด
คุณชุติกาญจน์ เจื้อยแจ้ว ประธานวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่จิ้งหรีดท่าชัย-ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย กล่าวว่าตนเลี้ยงจิ้งหรีดมา 5 ปี โดยมีจุดเริ่มต้นมาอยากมีรายได้เสริม นอกเหนือจากงานประจำที่ทำอยู่ ช่วงนั้นเห็นชาวบ้านเลี้ยงจิ้งหรีด จึงมีความสนใจเลยไปศึกษางานดู และนำมาเลี้ยงด้วยตนเอง
“เรียนรู้จากหมู่บ้านใกล้เคียง ไปเรียนรู้วิธีการเลี้ยง ไปซื้ออุปกรณ์ ซื้อชุดเลี้ยงมาลองเลี้ยงดู ไม่เคยเป็นเกษตรกรมาก่อน ความรู้ก็ไม่มี อาศัยความสนใจไปเรียนรู้การเลี้ยงจิ้งหรีดของเกษตรกรแต่ละที่ว่าแตกต่างกันอย่างไร”
คุณชุติกาญจน์ เล่าต่อว่าหลังจากหลังจากไปศึกษาดูก็พบว่าเลี้ยงไม่ยาก แถมยังมีความสะอาด ไม่ได้จุกจิกอะไร สามารถเลี้ยงเองได้คนเดียว
ภาพรวมตลาดจิ้งหรีดเป็นอย่างไร
ภาพรวมของตลาดจิ้งหรีดถือว่าดีมาก สำหรับเกษตรกรที่มีความสนใจจะเลี้ยงจิ้งหรีด เพราะเป็นตลาดต่างเทศที่ผู้บริโภคให้ความสนใจ โดยเฉพาะเรื่องของแมลง โดยธุรกิจที่ทำตอนนี้ 95% ส่งจิ้งหรีดออกนอกประเทศ ส่วนที่เหลือส่งในประเทศ เนื่องจากความต้องการบริโภคในไทยยังน้อยกว่าต่างประเทศที่มีการนำไปแปรรูปสู่ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ทั้งอาหารคน และอาหารสัตว์
ด้านราคาของจิ้งหรีด คุณชุติกาญจน์ บอกว่าขึ้นอยู่กับมาตรฐานของการเลี้ยง, ชนิดของแมลงที่เราเลี้ยง โดยตลาดในประเทศสายพันธุ์ของจิ้งหรีดที่ได้รับความนิยม คือสายพันธุ์ทองดำ, ทองแดง, จิ้งโกร่ง, สะดิ้ง และทองแดงเวียดนาม ซึ่งสายพันธ์จิ้งโกร่งมีราคาดีที่สุด ขายปลีกกิโลกรัมละ 200 กว่าบาท
“ตอนนี้การตลาดนำการผลิตไปแล้ว คือผลผลิตไม่เพียงพอต่อออเดอร์การสั่งซื้อที่เข้ามาในแต่ละรอบ ความต้องการเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ หากนำไปแปรรูปจิ้งหรีด 4 กิโลกรัม จะเหลือแค่ 1 กิโลกรัม เช่น ลูกค้าต้องการแปรรูป 5 ตัน ก็ต้องใช้จิ้งหรีดประมาณ 20 ตัน”
รายได้ 1.6 ล้านบาท จริงหรือไม่?
เรื่องนี้คุณชุติกาญจน์ยืนยันว่าจริง แต่ยังไม่ได้หักเรื่องของค่าใช้จ่าย โดยในเรื่องของต้นทุนการเลี้ยงจิ้งหรีดเฉลี่ยแล้วไม่แพงนัก ถ้าเป็นอาหารที่ใช้เลี้ยงจิ้งหรีดต่อรอบประมาณ 400-500 บาท สำหรับคนที่สนใจอยากเลี้ยงจิ้งหรีด แนะนำว่าให้ไปศึกษาการเลี้ยงก่อน ดูว่าธรรมชาติของจิ้งหรีดมีความเป็นอยู่อย่างไร และดูฟาร์มอื่น ๆ ที่มีการเลี้ยงจิ้งหรีดอีกทีหนึ่ง ต้องเรียนรู้ทฤษฎี และปฏิบัติควบคู่กันไป
“การเลี้ยงไม่ยาก 45 วันจับขายได้แล้ว แต่มายากเรื่องการส่งออก โดยคนที่เลี้ยงใหม่ ๆ ควรดูตลาดที่มีความมั่นคง ก่อนที่จะลงทุนทำอะไร หากมีตลาดที่แน่นอน ชัดเจน ก็สามารถลงทุนได้”
สำหรับการลงทุนครั้งแรกใช้แค่ที่จอดรถในการเลี้ยง และเพื่อให้ได้มาตรฐาน GIP จึงต้องซื้อที่ สร้างโรงเรือนแบบปิด พร้อมทั้งมีการตรวจอุณหภูมิ การให้อาหาร ให้น้ำ ให้ผัก ซึ่งเป็นระบบตามมาตรฐาน
เคล็ดลับมองหาตลาด
คุณชุติกาญจน์ พูดถึงเรื่องนี้ว่าตอนแรกที่เริ่มเลี้ยงหาตลาดในประเทศมองไปที่กลุ่มพ่อค้า แม่ค้า ตามตลาดค้าส่ง ซื้อครั้งหนึ่งเป็นร้อย ๆ กิโลกรัม และมีการขยับหัดแปรรูปเอง โดยในช่วงแรกใช้วิธีทอดขาย ต่อมาเปลี่ยนมาสู่รูปแบบอบ เพื่อเพิ่มมูลค่า สามารถเก็บไว้ได้นาน
ส่วนเรื่องตลาดส่งออกต่างประเทศ เกิดจากการมีลูกค้าต่างประเทศมาเยี่ยมชมฟาร์ม พร้อมนำจิ้งหรีดจากฟาร์มไปตรวจวิจัย เพื่อดูเชื้อ-สารตกค้าง ซึ่งจิ้งหรีดของฟาร์มเราตรวจพบไม่มีเชื้อ-สารตกค้าง จึงนำไปแปรรูปอีกที หากมองเรื่องการส่งออกฟาร์มจิ้งหรีดต้องได้รับมาตรฐาน GIP เพื่อให้รู้ที่มาที่ไปของแมลง หากเกิดปัญหาก็สามารถตรวจสอบได้
เมื่อพิจารณาดูแล้วจะพบว่าการเลี้ยงจิ้งหรีดถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางการหารายได้ที่น่าสนใจในยุคสมัยนี้ ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ที่สนับสนุน ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของการเลี้ยงที่ไม่ได้ยุ่งยาก แต่ขอให้เป็นไปตามมาตรฐาน และมีการศึกษามาอย่างละเอียด อีกทั้ง เทรนด์อาหารโปรตีนจากแมลงในต่างประเทศกำลังได้รับความนิยม แน่นอนว่าด้วยตลาดที่ใหญ่ย่อมมีโอกาสสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ
เรื่องที่เกี่ยวข้อง