การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการ SME ที่ทำธุรกิจได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก โดย SME D Bank ถือว่าเป็นอีกหนึ่งธนาคารที่ให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงิน เพื่อเสริมสภาพคล่องเพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินต่อไป
บทความนี้ Smartsme จะมาพูดคุยกับคุณนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการธนาคารวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ให้ฝ่าวิกฤตโควิด-19 ไปให้ได้
ทำธุรกิจอย่างไรให้อยู่รอด
คุณนารถนารี กล่าวว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมามีหลายกิจการที่เกิดการปรับตัว เปลี่ยนแปลง มองเห็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ธุรกิจ SME ที่ผ่านปี 2563 มาได้ ปัจจัยสำคัญมาจากการปรับตัวเอง โดยแบ่งเป็น “ปรับเพิ่ม” กับ “ปรับลด” ให้สอดคล้องกับสถานการณ์จากรายได้ที่หายไปจะนำกลับมาอย่างไรบ้าง
สำหรับการ “ปรับเพิ่ม” จะแบ่งเป็น 2 หัวด้วยกัน คือ 1.เพิ่มช่องทางการขาย เพื่อเพิ่มยอดขาย 2.เพิ่มความรู้ โดยมีหลายหน่วยงานพร้อมให้ความช่วยเหลือในเรื่องที่เป็นประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ SME ซึ่งผลสำรวจที่ออกมาพบว่า ผู้ประกอบการเน้นทำการตลาดมากขึ้น และมีจำนวนหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการทำแผนบริหารกิจการมากขึ้น
ด้าน “ปรับลด” จะแบ่งเป็น 1.การลดเรื่องค่าใช้จ่ายให้มีความสมดุลกับรายรับ 2.การลดต้นทุน ซึ่งมีหลายแบบมาก จากใช้คนก็เปลี่ยนมาใช้ระบบอัตโนมัติ ทำให้ต้นทุนเรื่องการตลาดลดลง รวมถึงต้นทุนการสต็อกสินค้า เพื่อทำให้เกิดความสมดุล พร้อมรับมือกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลง
“สิ่งที่ SME ต้องปรับมากที่สุด คือความยืดหยุ่นพร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลง หากเราใช้การปรับลด ปรับเพิ่ม แล้วจะทำให้ธุรกิจมีความสมดุลขึ้น หากมีอะไรมากระทบก็จะรับมือได้เร็ว”
ภารกิจของ SME D Bank กับการช่วยเหลือลูกค้า
คุณนารถนารี พูดถึงเรื่องนี้ว่า เราคือ SME Development Bank โดยจะมีบริการทั้งเรื่องการเงิน และเรื่องที่ไม่ใช้การเงิน ซึ่งเป็นสองสิ่งสำคัญในการประกอบธุรกิจ สำหรับในเรื่องที่ไม่ใช่การเงิน ธนาคารมีเว็บไซต์ wdev.smebank เป็นพื้นที่องค์ความรู้สำหรับผู้ประกอบการ SME ทั้งในส่วนของคอนเทนต์ที่แบ่งเป็นหมวดหมู่ ทั้งด้านวิชาการ, เคล็ดลับการทำธุรกิจ, การตลาด, การเสียภาษี รวมถึงประสบการณ์ของผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ
นอกจากนี้ ยังมีในเรื่องของการตลาดที่ SME D Bank ร่วมมือกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม อบรมถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ที่อยากขายสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซว่าต้องทำอย่างไร รวมถึงการขายสินค้าผ่านสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เช่น Tiktok, Instagram ที่มีรูปแบบการขายไม่เหมือนกัน
ในส่วนของการเงิน SME D Bank มีสินเชื่อ Soft loan ของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเสริมสภาพคล่องสำหรับผู้ประกอบธุรกิจ ลดกระทบต่อการจ้างงาน โดยให้วงเงินกู้ไม่เกิน 30% กับลูกค้าธนาคาร มีอัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-2 ร้อยละ 2 ต่อปี หลังจากนั้นไม่เกินร้อยละ 5 ระยะเวลากู้ยืมนานสูงสุด 7 ปี (เฉพาะลูกค้าธนาคาร)
อีกทั้ง ในเรื่องของมาตรการพักหนี้ สำหรับผู้ประกอบการที่มีหลักทรัพย์ไปจำนองไว้กับธนาคาร และได้รับผลกระทบในวงเงินกู้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน มองว่าอีก 3-5 ปีข้างหน้าโอกาสชำระเงินคืนน้อย ก็โอนทรัพย์ที่จำนองให้กับธนาคาร เพื่อลดภาระลง หากวันครั้งหน้าสภาวะเศรษฐกิจดีขึ้นก็สามารถกลับมาซื้อคืนได้
สำหรับ SME D Bank ยังมีสินเชื่อที่พร้อมให้บริการกับผู้ประกอบการ SME เพื่อเสริมสภาพคล่อง ลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจ เช่น สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน โดยให้วงเงินกู้สูงสุด 5 ล้านบาท นิติบุคคล อัตราดอกเบี้ย 3 ปีแรก ร้อยละ 2.875 ต่อปี บุคคลธรรมดา อัตราดอกเบี้ย 3 ปีแรก ร้อยละ 4.875 ต่อปี ผ่อนนาน 7 ปี
ฝากถึงผู้ประกอบการ SME
คุณนารถนารี ทิ้งท้ายฝากคำแนะนำถึงผู้ประกอบการว่า ช่วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีหลายธุรกิจที่เติบโต และไปรอด ส่วนใหญ่พวกเขาจะมีกำลังใจ มองหาโอกาส ทั้งโครงการจากภาครัฐฯ ที่มีออกมาอย่างมากมาย และเชื่อมั่นในตัวเองอยู่เสมอ มีการศึกษาหาความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.smebank.co.th/ หรือโทร 1357