Freja

Freja แบรนด์กระเป๋า ไอเดียธุรกิจเริ่มต้นจากห้องนั่งเล่น ปัจจุบันทำรายได้กว่า 100 ล้านบาท

เรียกว่าโอกาสอยู่รอบตัวเรา หากเราสังเกตดี ๆ ก็จะมีอะไรหลาย ๆ อย่างที่สามารถต่อยอดสู่การทำธุรกิจ อย่างกรณีของ Freja แบรนด์กระเป๋าวีแกนแฮนด์เมดที่จุดเริ่มต้นเกิดจากหญิงวัยรุ่นที่นั่งอยู่ในห้องนั่งเล่นหลังสัมภาษณ์งานเสร็จ และเกิดไอเดียที่จะขายกระเป๋า

ในปี 2019 Jenny Lei เรียนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัย Cornell อยู่ในสถานะว่างงาน และกำลังเตรียมตัวสัมภาษณ์งานในนิวยอร์ก เธอลองจับคู่กระเป๋าทำงาน 3 แบบ กับชุดของเธอ แต่ไม่มีอันไหนเข้ากันได้เลย เพราะเครื่องแต่งกายมีส่วนสำคัญต่อการสร้างความมั่นใจในการทำกิจกรรมต่าง ๆ

หลังจากสัมภาษณ์งานเสร็จเรียบร้อย Lei นั่งอยู่ใน Bryant Park พร้อมกับกระเป๋าที่มีช่องใส่แล็บท็อป และแฟ้มเอกสาร จากจุดนี้เธอได้นำเงินเก็บ 300,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ได้จากการทำธุรกิจดรอปชิปปิ้งระหว่างเรียนมาสั่งซื้อสินค้าต้นแบบจากผู้ผลิตในบรูคลิน แต่ของที่ได้รับประเมินแล้วไม่คุ้มค่ากับเงินที่เสียไป ดังนั้น เมื่อมีโอกาสเดินทางกลับไปยังกวางโจว ประเทศจีนจึงไปชมโรงงานที่เชี่ยวชาญหนังวีแกน

“ความเป็นคนจีน ฉันต้องการให้ Freja เป็นตัวแทนตัวเองในการแสดงให้โลกเห็นว่า สินค้า Made in China ควรมีลักษณะเป็นอย่างไร”

เธอตัดสินใจสั่งซื้อออเดอร์แรกจำนวน 300 ใบ สร้างเว็บไซต์ เริ่มทำแคมเปญการตลาดเพื่อรวบรวมกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย รวมถึงเขียนบล็อกเกี่ยวกับแนวทางการใช้สินค้า โดยใช้เวลาถึง 1 ปี ถึงจะระบายสินค้าได้หมด

Lei ทุ่มเงินมากขึ้นโดยการสั่งซื้อสินค้ารอบสอง และลงทุนโฆษณาทางโซเชียลมีเดียมากขึ้น แน่นอนว่าอุตสาหกรรมย่อมมีการแข่งขันที่ดุเดือด โดยในปี 2022 Lei สามารถขายกระเป๋าสร้างรายได้ 1.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี ซึ่งเธอได้ใช้เงินจำนวนนั้นร่วมกับเงินกู้อื่น ๆ เพื่อซื้อกระเป๋าที่มีดีไซน์หลากหลายมากขึ้น เพื่อขยายกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

 

 

แนวทางนี้สร้างผลลัพธ์ที่เกินเป้าหมายแบรนด์ทำรายได้ถึง 5.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว ด้วยกระแสเงินสดที่เกิดขึ้นทำให้เพียงพอที่จะชำระเงินกู้ได้ โดยบริษัทตั้งเป้าไว้เมื่อสิ้นสุดปี 2024 ธุรกิจจะมีรายได้ประจำปีอยู่ที่ 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

หากมองภาพกว้าง ตลาดกระเป๋าหรูมีมูลค่า 22.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ Fre ja แทบไม่ได้เป็นคู่แข่งของ LVMH ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ดีไซเนอร์อย่าง Louis Vuitton, Dior, Celine และ Loewe ที่ทำกำไร 16.85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีที่แล้ว

ด้าน Katie Weir นักวางแผนกลยุทธ์ด้านอุตสาหกรรมผู้บริโภคและสินค้าที่ Deloitte กล่าวว่าการแข่งขันที่รุนแรงหมายความว่าการอยู่รอดถือเป็นสถานการณ์ที่ดีที่สุดสำหรับแบรนด์แฟชั่นเฉพาะกลุ่ม การรักษาสถานะตัวเองในตลาดถือเป็นเรื่องยากพอสมควร โดยสตาร์ทอัพที่ยืนหยัดอยู่ได้จะพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทันกับเทรนด์แฟชั่น และความต้องการของผู้บริโภค

ขณะเดียวกับ Lei หวังว่าจะบรรลุเป้าหมายด้วยการจัดงานสร้างความภักดีแก่ลูกค้า เป็นที่ปรึกษาให้กับนักธุรกิจอายุน้อย ตลอดจนออกกระเป๋าใหม่ ๆ เพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมายที่กว้างขึ้น

“มีสิ่งหนึ่งที่บอกกับตัวเองอยู่เสมอคือไม่มีใครเกิดมาเป็นนักออกแบบ แต่ฉันสามารถทำมันได้ และเริ่มเรียกตัวเองเป็นดีไซเนอร์ได้แล้ว และพร้อมเดินหน้าอย่างมั่นคง” Lei กล่าว

ที่มา: CNBC, frejanyc

เรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้อง